วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

แชร์เทคนิคการจำตัวอักษรจีน

ใครที่คิดจะจำลายเส้นตัวอักษรจีนไปทั้งตัว อย่างไม่มีหลักการ ขอให้เลิกล้มความคิดนั้น เพราะสมองไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร สมองมีขีดจำกัด ถ้าไม่มีหลักการจำ ไม่นานก็จะสับสนจะลืมไปในที่สุด

ความจริงแล้ว ตัวอักษรจีนไม่ใช่ลายเส้นสุ่ม เราควรเริ่มด้วยการศึกษาวิธีประดิษฐ์อักษรจีนก่อน ซึ่งหลักๆ มีอยู่ 4 วิธีดังนี้ (ที่มา: หนังสือภาษาจีนระดับต้น 1 ของอ.เหยิน จิ่งเหวิน)

1. 象形字 อักษรภาพ

เป็นการวาดภาพตามรูปร่างของสิ่งของที่มีอยู่จริง ส่วนใหญ่เป็นตัวหนังสือเดี่ยว คิดเป็น 5% ของตัวหนังสือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ 日,心,门,水,火,子 เป็นต้น


2. 指事字 ตัวหนังสือที่ใช้เครื่องหมายนามธรรมแสดงความหมาย

ใช้เครื่องหมายที่เป็นนามธรรมแสดงความหมายของตัวหนังสือ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นตัวหนังสือเดี่ยว ตัวหนังสือประเภทนี้มีจำนวนไม่มาก ได้แก่ 本,末,上,下,天,三 เป็นต้น


3. 会意字 ตัวหนังสือผสมเพื่อแสดงความหมายใหม่

เป็นตัวหนังสือใหม่ที่ประกอบขึ้นมาจากตัวหนังสือเดี่ยว (独体字) หรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ (偏旁) ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป เพื่อแสดงความหมายใหม่ ได้แก่ 木 (ต้นไม้) + 木 (ต้นไม้) --> 林 (ป่า)


4. 形声字 ตัวหนังสือผสมที่แสดงทั้งความหมายและเสียง

ทั้งหมดเป็นตัวหนังสือผสม โดยประกอบขึ้นจากตัวหนังสือเดี่ยวหรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ ซึ่งส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกความหมาย (意符) และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกเสียง (音符) ได้แก่

女 (ผู้หญิง - ส่วนประกอบบอกความหมาย) + 马 (mǎ - ส่วนประกอบบอกเสียง) --> 妈 (mā, แม่)

ปัจจุบันนี้ ตัวหนังสือประเภทนี้มีมากกว่า 80% ของตัวหนังสือจีนทั้งหมด

------------------

จากการศึกษาวิธีประดิษฐ์ตัวอักษร ทำให้เราทราบว่าตัวอักษรจีนไม่ใช่ลายเส้นสุ่ม ทำให้เรามีหลักในการจำตัวอักษรจีน กล่าวคือ

1. ตัวอักษรจีน มากกว่า 80% เป็นตัวหนังสือผสม ดังนั้นเราควรแยกองค์ประกอบของตัวอักษร ว่าตัวอักษรตัวนั้นประกอบด้วยส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วเพียงฝึกเขียนองค์ประกอบย่อยๆ ให้เป็น ซึ่งถ้าเขียนองค์ประกอบย่อยของตัวอักษรตัวหนึ่งเป็นแล้ว ก็สามารถนำไปใช้กับตัวอักษรอื่นๆ ได้อีกด้วย (เป็น building block)

(ภาพประกอบจาก Yoyo Chinese.com)


2. ตัวหนังสือผสม ไม่ว่าจะเป็น 会意字 หรือ 形声字 จะมีส่วนประกอบที่บอกความหมายอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยในการเดาและจำความหมายของตัวอักษรจีนนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น

日 ดวงอาทิตย์, เวลา หรือแสง -- 早 เช้า, 明 สว่าง, 时 เวลา
木 เกี่ยวกับไม้, ต้นไม้              -- 根 ราก, 林 ป่า, 桌 โต๊ะ
氵(水)  เกี่ยวกับน้ำ, ของเหลว  --  河 แม่น้ำ, 洋 มหาสมุทร
目 เกี่ยวกับตา                         -- 看 ดู, 眼 ตา

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ The 100 Most Common Chinese Radicals

3. นอกจากจะสามารถเดาความหมายจากส่วนประกอบบอกความหมายได้แล้ว เรายังสามารถเดาการออกเสียงของตัวอักษรจีน ได้จากส่วนประกอบบอกเสียงได้ด้วย โดยเสียงจะเหมือนหรือใกล้เคียงกับเสียงของส่วนประกอบบอกเสียง ตัวอย่างเช่น

半 bàn   ครึ่ง
伴 bàn   เพื่อน, ร่วม
判 pàn   ตัดสิน
叛 pàn   ทรยศ
胖 pàng อ้วน


------------------

ควรศึกษาตัวอักษรจีนตัวไหนบ้าง

ความจริงแล้วในทุกๆ ภาษา จะมีคำศัพท์หรือตัวอักษรที่ใช้บ่อยๆ จริงๆ แล้วไม่มากนัก สำหรับภาษาจีนหากเราทราบตัวอักษรจีนที่พบบ่อยเพียง 1000 ตัว ก็จะสามารถครอบคลุมการใช้งานได้ถึง 91% แล้ว

ตัวอักษรจีนที่ทราบ   ครอบคลุมการใช้งานประมาณ
250 ตัว                      64%
500 ตัว                      79%
1000 ตัว                    91%
1500 ตัว                    95%
(ที่มา: yellowbridge - Learning the Most Commonly Used Chinese Characters)


ฮั่นจื้อกง  汉字宫  เป็นคลิปสอนตัวอักษรจีน 3000 กว่าตัว โดยช่วงแรกจะเป็นแอนิเมชั่นแสดงว่าอักษรภาพกำเนิดมาจากสิ่งต่างๆ อะไรบ้าง จากนั้นจะมีการสอนหมวดอักษรนำ และการเอาหมวดอักษรนำไปใช้ผสมเป็นอักษรผสมตัวอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าช่วงที่สอนอักษรภาพและหมวดอักษรนำเหมาะกับผู้ที่เริ่มศึกษา แต่ถ้าเลยมาถึงอักษรผสมแล้ว จะมีตัวอักษรที่ไม่ค่อยพบบ่อยมาด้วย ถ้าจะท่องจำไปทั้งหมดจะใช้เวลามากไป น่าจะไปเรียนตัวอักษรตามลำดับการใช้บ่อยของตัวอักษรก่อนจะดีกว่า



------------------

เครื่องมือที่ใช้แยกองค์ประกอบตัวอักษร

MDBG Dictionary

แสดงการแยกองค์ประกอบของตัวอักษร โดยถ้าใช้เม้าส์จิ้มที่องค์ประกอบย่อยก็จะสามารถทราบชื่อและความหมายของแต่ละองค์ประกอบได้

มีตัวเลือกสามารถแสดงลำดับขีดได้

(ภาพแสดง Character Decomposition ของ MDBG dictionary)

Written Chinese

มีการแสดงส่วนประกอบพร้อมเสียงอ่านและความหมายของแต่ละส่วนประกอบ โดยส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบบอกความหมายจะเป็นสีน้ำตาล

มีภาพแอนิเมชั่นแสดงลำดับขีด

ทั้งหมดอยู่ในหน้าจอเดียวทำให้ดูง่าย แต่พบว่าในตัวอักษรบางตัวมีการแสดงส่วนประกอบของตัวอักษรคลาดเคลื่อนไป (เพิ่งพบเพียง 1 ตัว) จึงควรตรวจสอบกับเวปอื่นด้วย

(ภาพแสดง Character Details ของ Written Chinese.com)


------------------

เทคนิคการจำตัวอักษรว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง

1. ถ้าเป็นอักษรภาพ ให้เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่ตัวอักษรนั้นกำเนิดมา และควรจะฝึกเขียนให้ถูกต้องตามลำดับขีด (stroke order) เพราะลำดับขีดถูกออกแบบมาเพื่อให้เขียนตัวอักษรนั้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ตัวอักษรดูสวยงาม และการเขียนตัวอักษรให้ถูกต้องตามลำดับขีดจะทำให้ต่อไปจะอ่านลายมือเขียน(เขี่ยๆ)ได้ไม่ยาก (อ่านเพิ่มเติมที่ 36 samples of Chinese handwriting from students and native speakers)

2. ถ้าเป็นตัวอักษรผสมที่มีหลายองค์ประกอบย่อย ควรจะแต่งเรื่องเพื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งเรื่องที่แต่งนอกจากจะต้องมีองค์ประกอบย่อยทั้งหมดแล้ว ยังควรมีความหมายหรือเสียงอ่านหรือรูปร่างของตัวอักษรนั้นเพื่อทำให้จำแม่นยิ่งขึ้น เช่น  คน (亻) พิงต้นไม้ (木) เพื่อพักผ่อน (休)

(ภาพประกอบจาก writtenchinese.com)


ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง เค้ก (糕) ทำจาก ข้าว (米) และแกะ (羊) ย่างอยู่บนไฟ (灬)

(ภาพประกอบจาก writtenchinese.com)


หากตัวอักษรมีหลายความหมาย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรแต่งเรื่องให้ครอบคลุมทุกความหมายเอาไว้ด้วยกัน เช่น จุดสามจุด (⺌)  ปิด (冖) ตาของฉัน ฉันมองไม่เห็น (见) ดังนั้นจึงรู้สึก (觉 jué) จะหลับ (觉 jiào)

(ภาพประกอบจาก writtenchinese.com)

ถ้าไม่ถนัดแต่งเรื่องเอง สามารถลองดูใน Etymology (วิชาว่าด้วยการกำเนิดตัวอักษร) ของ Yellowbridge หากเป็นตัวหนังสือผสมเพื่อแสดงความหมายใหม่ ก็มักจะมีเรื่องที่แต่งไว้ให้อยู่แล้ว  หรืออาจดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ อธิบายตัวอักษรจีน

ปัจจุบัน APP เรียนภาษาหลายตัว ก็มีการใช้เทคนิคการจำตัวอักษรจีนโดยแยกส่วนประกอบ และผูกเรื่องราวไว้ให้อยู่แล้ว เช่น HelloChinese ซึ่งจะนำภาพพร้อมเรื่องมาให้ดู จากนั้นผู้เรียนสามารถลองเขียนตามลำดับขีดได้ และยังมีระบบทบทวนแบบ spaced repetition โดยจะจับตัวอักษรกลับมาให้ผู้เรียนได้ทบทวน โดยความถี่ห่างจะขึ้นกับว่าผู้เรียนตอบได้ถูกต้องแค่ไหนด้วย เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูง ครบวงจรมาก แต่ข้อเสีย คือ สามารถใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ถ้าเป็นภาษาไทยจะต้องเสียค่าสมาชิก

(ภาพประกอบจาก HelloChinese)


------------------

เทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยในการจำตัวอักษรจีน

1. ใช้ภาพเพื่อเชื่อมโยงความหมายเข้ากับตัวอักษรโดยตรง

(ภาพประกอบจาก Chineseasy.com)

วิธีนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำตัวอักษรและความหมายของตัวอักษรได้อย่างรวดเร็ว และวิธีนี้ยังสนับสนุนเทคนิคการแยกส่วนประกอบของตัวอักษรอีกด้วย


2. การศึกษากลุ่มตัวอักษรที่มีส่วนประกอบบอกเสียงเหมือนกันไปด้วยกัน

(ภาพประกอบจาก Remembr.it Chinese)

การที่มีส่วนประกอบบอกเสียงเหมือนกัน ทำให้เราฝึกเขียนส่วนประกอบบอกเสียงเพียงตัวเดียว ก็สามารถใช้ศึกษากลุ่มตัวอักษรที่เกี่ยวข้องได้อีกหลายตัว สามารถแยกความแตกต่างของตัวอักษรในกลุ่มได้ ซึ่งในกลุ่มตัวอักษรนี้ มักจะมีเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกัน ทำให้จำเสียงได้ง่าย นอกจากนั้นเราควรจดจำตัวอักษรโดยเชื่อมโยงความหมายเข้ากับส่วนประกอบบอกความหมายด้วย ช่วยในการจำความหมายให้แน่นยิ่งขึ้น  ตัวอย่างเช่น

กลุ่มตัวอักษรที่ใช้ 半 bàn เป็นส่วนประกอบบอกเสียง

伴        =      亻   +    半
bàn                           bàn
เพื่อน          คน

判         =  刀刂  +    半
pàn                           bàn
ตัดสิน      มีด,ดาบ

胖         =    月    +    半
pàng                         bàn
อ้วน           เนื้อ

ฮั่นจื้อกง ใช้เทคนิคนี้ในการสอนตัวอักษรผสมโดยยกตัวอักษรที่จะใช้เป็นส่วนประกอบบอกเสียงขึ้นมา แล้วสอนตัวอักษรที่ใช้ส่วนประกอบเสียงนั้นร่วมกัน


3. ศึกษาตัวอักษรที่คล้ายๆ กัน ที่ง่ายต่อการสับสนไปด้วยกัน  ตัวอย่างเช่น

我 wǒ    找 zhǎo
师 shī    帅 shuài
季 jì      李 lǐ
已 yǐ     己 jǐ
狠 hěn   狼 láng

เพื่อจับจุดที่แตกต่างกัน เอาไว้ใช้สังเกตเวลาที่เจอตัวอักษรเหล่านี้ จะได้แยกแยะได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว (อ่านเพิ่มเติม 100 คู่อักษรจีนที่มักเขียนผิด)


------------------

หมายเหตุ

เผยแพร่เป็นวิทยาทานครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการจำตัวอักษรให้แม่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ลิงค์แนะนำ:  แชร์เฉลย Hanyu Jiaocheng  ลองอ่านเกร็ดความรู้ แนวทางการเรียนภาษา








แชร์เทคนิคการจำตัวอักษรจีน

ใครที่คิดจะจำลายเส้นตัวอักษรจีนไปทั้งตัว อย่างไม่มีหลักการ ขอให้เลิกล้มความคิดนั้น เพราะสมองไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร สมองมีขีดจำกัด ถ้าไม่มีห...